- January 30, 2024
- condo, home, investment, Real estate, การลงทุน, คอนโดปล่อยเช่า, ปล่อยเช่า, อสังหา, อสังหาริมทรัพย์, อสังหาฯ
- Blogs
Personal Loan คืออะไร?
Personal Loan คือสินเชื่อส่วนบุคคลที่ออกโดยผู้ให้บริการสินเชื่อ ทั้งธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร เพื่อเป็นทางเลือกเงินก้อนสำหรับหมุนเวียนใช้จ่ายตามความต้องการและความจำเป็นของผู้กู้ โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ หรือบุคคลค้ำประกัน ผู้กู้จะได้รับอนุมัติวงเงินที่สามารถใช้ได้ และทยอยผ่อนชำระคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นจำนวนงวดตามที่ได้ตกลงกันไว้ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท
1. สินเชื่อบุคคลที่มีหลักประกัน (Secured Personal Loans)
สินเชื่อบุคคลที่มีหลักประกัน มีความหมายตามชื่อเลยครับ การมีหลักประกันในสินเชื่อส่วนบุคคล คือ การใช้หลักทรัพย์ในการค้ำประกันการกู้ ที่ไม่ใช่เพียงแค่เอกสารแสดงตัวตนหรือเอกสารแสดงรายได้ต่อเดือนเพียงอย่างเดียวเท่านั้นโดยเอกสารที่นำมาใช้เป็นหลักประกัน อาจจะเป็นรูปแบบของที่ดิน, ที่พักอาศัย หรือสถานประกอบการ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว สินเชื่อมีหลักประกันมักจะมีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ที่ถูกกว่าสินเชื่อที่ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน
2. สินเชื่อบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน (Unsecured Personal Loans)
สินเชื่อบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน หมายถึง สินเชื่อบุคคลทั่วไป ที่ไม่จำเป็นต้องใช้หลักทรัพย์อื่นๆ มาค้ำประกันเพื่อขออนุมัติเงินกู้ เวลาที่ไปขอสินเชื่อประเภทนี้จะใช้แค่เอกสารยืนยันตัวตน และเอกสารรายได้เท่านั้น สินเชื่อส่วนบุคคลประเภทนี้ มักจะเป็นสินเชื่อส่วนใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งธนาคารจะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ย,ค่าธรรมเนียม หรือยอดที่ต้องชำระต่อเดือน มาเป็นเงื่อนไขในการกู้ด้วย
3. สินเชื่อส่วนบุคคลอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed-Rate Personal Loans)
สินเชื่อส่วนบุคคลอัตราดอกเบี้ยคงที่ คือ สินเชื่อที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายเดือนเอาไว้ที่ตัวเลขใดตัวเลขหนึ่ง และจะคงที่ไปตลอดอายุสัญญาการกู้ในช่วงเวลาที่กำหนด ข้อดีของการมีอัตราดอกเบี้ยคงที่สำหรับสินเชื่อบุคคล คือ จะทำให้ผู้ขอสินเชื่อสามารถวางแผนการเงินได้ง่ายมากกว่า โดยไม่ต้องมานั่งกังวลว่าดอกเบี้ยจะมีแนวโน้มขึ้นหรือลงเมื่อเวลาผ่านไป
4. สินเชื่อส่วนบุคคลอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Adjustable-Rate Personal Loans)
สินเชื่อส่วนบุคคลอัตราดอกเบี้ยลอยตัว จะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะเปลี่ยนแปลงไปตามแต่สถานการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งสถาบันการเงินแต่ละแห่ง จะมีการประกาศอัตราดอกเบี้ยออกมาตามแต่ละช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งมีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยจะขึ้นหรือลงก็ได้ ตามสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในขณะนั้น การที่อัตราดอกเบี้ยลอยตัว จะเป็นประโยชน์ต่อผู้กู้ในกรณีที่ดอกเบี้ยปรับลดลง แต่ก็จะเป็นผลเสียเช่นกันหากดอกเบี้ยถูกปรับให้สูงขึ้น